ปัญหาส่วนใหญ่ที่พ่อค้าแม่ค้าหรือคนค้าขายส่วนใหญ่มักเจอก็คือ การที่มีสินค้าแล้วจะทำกลยุทธ์การตั้งราคา(Pricing Strategy) ยังไง เพราะหากตั้งราคาสูงเกินไป ก็ขายได้ยาก แต่หากตั้งไว้ต่ำเกินไป ก็อาจจะขายได้มากแต่กำไรก็น้อยจนไม่คุ้มก็มีให้เห็น ทางเราจึงได้รวบรวมรูปแบบ ตัวอย่าง และกลยุทธ์การตั้งราคาที่สามารถช่วยให้คุณเข้าใจวิธีตั้งค่าราคาที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมายของคุณได้ดียิ่งขึ้น
เลือกอ่านตามหัวข้อที่สนใจ
เข้าใจความหมายของกลยุทธ์การตั้งราคาแบบง่ายๆ
กลยุทธ์การตั้งราคาคือรูปแบบหรือวิธีการที่ใช้กำหนดราคาที่ดีที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อช่วยให้ผู้ขายสามารถเลือกราคาเพื่อเพิ่มผลกำไรและมูลค่าแก่องค์กร บริษัท หรือตัวร้านค้าเอง โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคและตลาด รวมถึงปัจจัยทางธุรกิจหลายๆอย่าง เช่น รายได้ของกลุ่มเป้าหมาย(ผู้ซื้อ) วัตถุประสงค์ทางการตลาด ตำแหน่งแบรนด์ และคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอกด้วย เช่น ความต้องการของผู้บริโภค ราคาของคู่แข่ง และแนวโน้มตลาดและเศรษฐกิจโดยรวม เป็นต้น
เมื่อรู้ความหมายคร่าวๆของกลยุทธ์การตั้งราคาแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่ามันมีกลยุทธ์ในการตั้งราคาตั้งหลากหลายวิธี แล้ววิธีไหนหละที่เหมาะกับสินค้าหรือบริการของเรา แล้วแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันยังไง นี่จึงเป็นสาเหตุที่บทความนี้เกิดขึ้นมา เราได้รวบรวม 10 กลยุทธ์การตั้งราคา ที่จะมาช่วยในการทำ Pricing Strategy ของคุณให้ดียิ่งขึ้น ไปรับชมกันได้เลย
กลยุทธ์การตั้งราคาทั้ง 10 แบบ (10 Pricing Strategies) มีอะไรบ้าง
1. Penetration pricing strategy กลยุทธ์การตั้งราคาแบบเจาะกลุ่ม
มีเป้าหมายเพื่อดึงดูดผู้ซื้อโดยเสนอราคาสินค้าและบริการที่ต่ำกว่าคู่แข่ง กลยุทธ์นี้ใช้ดึงความสนใจของลูกค้าออกจากธุรกิจอื่นๆ และช่วยเพิ่มการรับรู้ถึงแบรนด์(Brand awareness)และความภักดีต่อแบรนด์(Brand loyalty) Penetration pricing การตั้งราคาแบบเจาะกลุ่ม ใช้ได้ผลดีที่สุดสำหรับธุรกิจหน้าใหม่ที่กำลังมองหาลูกค้าหรือธุรกิจที่อยากเข้ามาแข่งขันในอุตสกรรมที่มีเจ้าตลาดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การตั้งราคาแบบเจาะจะไม่ยั่งยืนในระยะยาว และโดยทั่วไปจะใช้ในช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้น
เหมาะกับ : ธุรกิจขนาดเล็กโดยเฉพาะกลุ่ม FMCG ที่มีเป้าหมายหลักในการสร้าง Brand loyaltyและ การรับรู้ของแบรนด์ (Brand awareness) |
ข้อดี ดึงดูดลูกค้าเข้าร้านจำนวนมากขึ้น กำจัดสินค้าคงคลังที่ไม่อยู่ในฤดูกาลหรือสินค้าเก่า ส่งเสริมการพูดปากต่อปากในเชิงบวก สร้างปริมาณการขายสูง |
ข้อเสีย สามารถทำให้เกิดสงครามด้านราคาได้ อาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ เนื่องจากลูกค้าอาจมองว่าสินค้าลดราคาเป็นสินค้าราคาถูกหรือไม่ดี ลูกค้ามักจะคาดหวังการซื้อสินค้าในราคาต่ำและไม่พอใจหากสินค้ามีราคาสูงขึ้น |
ตัวอย่าง Penetration pricing strategy กลยุทธ์การตั้งราคาแบบเจาะกลุ่ม
ให้ลองนึกภาพที่คู่แข่งขายของคุณขายสินค้าในราคา 500 บาท แต่คุณตัดสินใจที่จะขายผลิตภัณฑ์เดียวกันในราคา 400 บาท เพื่อที่จะดึงดูดความสนใจจากลูกค้าให้ออกมาจากคู่แข่งของคุณ แม้ว่าคุณจะต้องขาดทุนจากการขายก็ตาม
2. Economy pricing strategy กลยุทธ์การตั้งราคาแบบประหยัด
เป็นแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการลดค่าใช้จ่ายทางการตลาดและต้นทุนการผลิตให้เหลือน้อยที่สุด โดยต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง บริษัทต่างๆ สามารถกำหนดราคาขายที่มีราคาถูกและต่ำกว่าแต่ยังสามารถทำกำไรได้ โดยทั่วไป Economy pricing กลยุทธ์การตั้งราคาแบบประหยัด จะใช้สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ของชำหรือยา รวมถึงสายการบินราคาประหยัดและซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งโมเดลธุรกิจจะอาศัยการขายผลิตภัณฑ์จำนวนมากให้กับลูกค้าใหม่อย่างสม่ำเสมอ
เหมาะกับ : ธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องการรักษาต้นทุนค่าการผลิตสินค้าและบริการให้ต่ำและขายสินค้าโภคภัณฑ์ |
ข้อดี ดึงดูดลูกค้าที่อ่อนไหวต่อราคา ใช้ได้ดีในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือภาวะถดถอย ต้นทุนในการได้มาซึ่งลูกค้าให้ต่ำ |
ข้อเสีย กำไรขั้นต้นต่ำ ต้องมีลูกค้าใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ผู้บริโภคอาจมองว่าผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพ อาจจะส่งผลเสียต่อการรับรู้แบรนด์ |
3. Premium pricing strategy กลยุทธ์การตั้งราคาแบบพรีเมียม
กลยุทธ์การตั้งราคาแบบพรีเมียม หรือ Premium Pricing นี้ทำเพื่อกำหนดราคาผลิตภัณฑ์หรือบริการให้สูงขึ้นโดยการทำการตลาดและสร้างภาพลักษณ์ให้สินค้าดูมีความหรูหรา พรีเมียม สุดพิเศษ หาซื้อได้ยาก หรือให้ลูกค้ามีความรู้สึกว่าตัวสินค้าที่ซื้อไปมีมูลค่าสูงกว่าสินค้าทั่วไป โดยการโปรโมตผลิตภัณฑ์หรือบริการโดยกำหนดเป้าหมายไปยังผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าที่ยินดีจ่ายเงินเพิ่มโดยไม่คำนึงถึงต้นทุนที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์ โดยประเภทสินค้าที่ใช้กลยุทธ์นี้ส่วนใหญ่ได้แก่ สินค้ากลุ่มแฟชั่นและเทคโนโลยี เช่น GUCCI, Louis Vuitton, Chanel และ Apple เป็นต้น
เหมาะกับ : ธุรกิจที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันมาก(จากภาพลักษณ์และรากฐานของแบรนด์ที่แข็งแกร่ง) และรู้ว่าพวกเขาสามารถคิดราคาที่สูงขึ้นโดยไม่ถูกตัดราคาโดยผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพใกล้เคียงหรือคล้ายกัน |
ข้อดี ผู้บริโภครับรู้ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณมีคุณภาพดีกว่าและมีความพรีเมียมมากกว่าเมื่อเทียบกับของคู่แข่ง อัตรากำไรที่สูงขึ้น สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้แบรนด์เป็นที่ต้องการมากขึ้น |
ข้อเสีย หากลูกค้าอ่อนไหวต่อราคาและมีตัวเลือกอื่นๆ ในการซื้อ กลยุทธ์การตั้งราคานี้อาจใช้งานได้ยาก ในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน กลยุทธ์นี้อาจจะไม่ได้ผล ต้องทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและงบในการทำวิจัยตลาด(Market Research) พอสมควร ต้นทุนการผลิตและการทำการตลาดที่สูงขึ้น อาจจะรวมถึงกลุ่มเป้าหมายที่เล็กลง |
ตัวอย่าง Premium Pricing กลยุทธ์การตั้งราคาแบบพรีเมียม
จากภาพเราจะเห็นสินค้าที่เป็นนาฬิกาใช่ไหมครับ ที่จะจัดอยู่ในหมวดแฟชั่นและไม่ได้เป็นปัจจัย 4 ด้วยซ้ำแต่สามารถขายได้ราคาหลักแสน นั่นก็เพราะว่าด้วยภาพลักษณ์และรากฐานของแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และการทำการตลาดที่ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าตัวสินค้าที่ซื้อไปมีมูลค่าสูง คุณภาพดีกว่า หายากและดูหรูหรากว่าสินค้าประเภทเดียวกันจากแบรนด์อื่นๆนั่นเอง
4. Skimming Pricing strategy กลยุทธ์การตั้งราคาสูง
กลยุทธ์การกำหนดราคาแบบ Skimming Pricing คือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมและสดใหม่ให้กับลูกค้าในราคาที่สูงในช่วงแรกๆ เพื่อให้ได้กำไรและต้นทุนกลับมาโดยเร็วที่สุด และราคาสินค้าจะค่อยๆลดลงทีละน้อยอย่างช้าๆตามความนิยมและความต้องการของผู้บริโภค
เหมาะกับ : ธุรกิจที่มีสินค้าที่มีความต้องการสูง เช่น บริษัทเทคโนโลยี สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และคอนโซลวิดีโอเกม |
ข้อดี ดึงดูดลูกค้าประจำที่ต้องการเป็นคนแรกในการเข้าถึงสินค้า/มีประสบการณ์พิเศษในการถือครองคนแรกๆ เพิ่มผลกำไรสูงสุดผ่านกลุ่มลูกค้าแรกเริ่ม |
ข้อเสีย ปัญหาสินค้าค้างสต็อกอาจเกิดขึ้นหากกลยุทธ์นี้ล้มเหลว ต้องมีการวางแผนเปิดตัวสินค้าให้ดี หากมีการเปิดตัวพร้อมกับคู่แข่งที่ทำสินค้าเดียวกันและราคาถูกกว่าอาจจะมีปัญหาได้ ต้องทำให้ลูกค้ารับรู้ได้ว่าสินค้าใหม่นั้นดีและคุณภาพดีกว่าสินค้าตัวเดิม |
ตัวอย่าง Skimming Pricing strategy กลยุทธ์การตั้งราคาสูง
จากภาพตัวอย่างจะเห็นสินค้า เช่น iphone, play station, หรือรถ tesla ซึ่งในช่วงเปิดตัวแรกจะมีราคาสูงมากและคนแห่จองกันเพียบ แต่พอเวลาผ่านไปอาจจะซัก 6 เดือน – 1 ปี ที่ความต้องการและความนิยมของสินค้าเริ่มลดลง รวมถึงอาจจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ในเครือที่จะออกมา ราคาของสินค้าเหล่านี้ก็จะค่อยๆลดลงแบบช้าๆ
5. Psychological pricing strategy การตั้งราคาทางจิตวิทยา
กลยุทธ์การตั้งราคาทางจิตวิทยาเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่มุ่งใช้ประโยชน์จากจิตวิทยาของมนุษย์เพื่อเพิ่มยอดขายและรายได้ เมื่อราคาลงท้ายด้วย 5, 7, 9 หรือจำนวนกึ่งกลางที่เป็นเลขคี่(เช่น ร้านแห่งหนึ่งอยากขึ้นค่าขนส่งจาก 10 บาทเป็น 20 บาท แต่กลัวลูกค้าไม่พอใจ จึงขึ้นราคาใหม่โดยใช้ค่ากลางระหว่าง 10 ถึง 20 คือ 15 บาท ซึ่งราคาแบบประณีประนอมนี้อาจจะวินๆทั้งสองฝ่ายและสร้างความเคยชินด้านราคาให้ลูกค้า ก่อนที่จะปรับเป็น 20 ในภายหลัง) เพื่อให้รู้สึกว่าถูกกว่าที่เป็นอยู่ วิธีนี้ได้ผลเพราะเมื่อคนอ่านจากซ้ายไปขวา ตัวเลขจะดูน้อยลง
เหมาะกับ : ธุรกิจที่มุ่งสู่การทำกำไรและเพิ่มยอดขาย รวมทั้งระบายสินค้าในระยะสั้นอย่างรวดเร็ว |
ข้อดี ลดความซับซ้อนของกระบวนการตัดสินใจสำหรับลูกค้า สามารถกระตุ้นการซื้อได้ สร้างกำไรและยอดขายในระยะเวลาที่รวดเร็ว |
ข้อเสีย อาจทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนถูกหลอก ไม่ได้ทำให้คุณแตกต่างจากคู่แข่งเพราะเป็นกลยุทธ์ยอดนิยม ทำแล้วอาจจะต้องทำไปเรื่อยๆ เพราะหากเปลี่ยนราคาอาจจะทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจได้ ลูกค้าที่มองคุณภาพของสินค้าเป็นหลักอาจจะมองข้ามสินค้าที่มีการตั้งราคาเหล่านี้ |
ตัวอย่าง Psychological pricing strategy การตั้งราคาทางจิตวิทยา
การกำหนดราคาทางจิตวิทยามักพบเห็นได้ในร้านค้าปลีก ตัวอย่างเช่น การตั้งราคานาฬิกาที่ 1,799 - 1,899 - 1,999 บาท มีแนวโน้มว่าจะดึงดูดลูกค้าใหม่ได้มากกว่าการตั้งไว้ที่ 2,000 บาท แม้ว่าราคาจริงส่วนต่างจะค่อนข้างน้อยก็ตาม
กลวิธีอื่นๆ ที่ผู้ค้าปลีกใช้คือการใช้ภาษา "ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง" เทียบกับ "ส่วนลด 50% ของราคาสินค้า" กลยุทธ์นี้ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าที่ชื่นชอบการที่ได้ผลตอบแทนเป็นสินค้าจริงมากกว่า ส่วนลดที่เป็นคำหรือตัวเลขเปล่าๆ แม้ว่าข้อเสนอเหล่านั้นจะเป็นข้อเสนอเดียวกันก็ตาม(1 แถม 1 ก็คือการลด 50% เหมือนกัน)
6. Bundle pricing strategy การตั้งราคาแบบแพครวม
การรวมกลุ่มราคา (Price bundling) หรือการตั้งราคาแบบกลุ่มผลิตภัณฑ์ (Product Bundle) เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่รวมผลิตภัณฑ์ตั้งแต่สองรายการขึ้นไปเพื่อขายในราคาที่ต่ำกว่าการขายผลิตภัณฑ์เดียวกันทีละรายการ เทคนิคการกำหนดราคาแบบมัดเป็นที่นิยมในร้านค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากให้ราคาที่คุ้มค่ากว่า นอกจากนี้ยังสามารถช่วยสร้างความภักดีของลูกค้าและเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์
เหมาะกับ : ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าและยอดขายให้ตัวสินค้า โดยที่ลูกค้าเกิดความรู้สึกพึงพอใจด้วย เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าปลีกและ e-commerce |
ข้อดี เพิ่มคุณค่าให้ตัวสินค้า ช่วยลดปริมาณสินค้าคงคลัง ลดต้นทุนการตลาดและการขาย เพิ่มมูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ย (AOV) |
ข้อเสีย บางครั้งลูกค้าอาจจะไม่มีความต้องการสินค้าแบบแพค สินค้าบางรายการในแพคอาจไม่เป็นที่ต้องการของลูกค้า สินค้าบางรายการในแพคอาจทำกำไรได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการขายแบบชิ้นเดียว |
ตัวอย่าง Bundle pricing strategy การตั้งราคาแบบแพครวม
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดที่เห็นเป็นประจำก็คือการตั้งราคาแบบ combo set ของ mcdonald's ที่มีการรวมสินค้ามารวมกันหลายรายการและจัดเป็นชุด เช่น หากเราซื้อ เบอร์เกอร์ เฟรนฟราย และโค้ก ที่ละรายการเราอาจต้องจ่ายเงิน 150บาท แต่หากเราสั่งเป็นเซ็ทอาจจะจ่ายแค่เพียง 129 บาท เป็นต้น
7. Promotional pricing strategy การตั้งราคาเพื่อการส่งเสริมการตลาด
ราคาส่งเสริมการขายเป็นกลยุทธ์การตั้งราคาที่ผู้ขายหรือแบรนด์ลดราคาของผลิตภัณฑ์หรือบริการชั่วคราวโดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดลูกค้ามากขึ้น ราคาส่งเสริมการขายมี 2 แบบคือ การตั้งราคาแบบเร่งการตัดสินใจ เช่น สั่งซื้อภายในวันนี้ ลดทันที 50% และแบบที่สองคือ การตั้งราคาพิเศษในวันสำคัญหรือเทศกาล เช่น วันปีใหม่ คริสมาสต์ หรือวันก่อตั้งแบรนด์ เป็นต้น
เหมาะกับ : ธุรกิจที่ต้องการขายหรือระบายสินค้า ผลิตภัณฑ์หรือบริการให้เร็วที่สุด |
ข้อดี เพิ่มปริมาณการขายในระยะสั้น เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายสินค้าคงคลัง สามารถความภักดีของผู้บริโภค(brand loyalty)ได้ เกิดการบอกต่อและเพิ่มลูกค้าหน้าใหม่ |
ข้อเสีย ลูกค้ารอที่จะซื้อช่วงลดราคาเท่านั้น หากไม่มีการจัดโปรหรือขึ้นราคา ลูกค้าอาจจะมองว่าสินค้าที่ขายไม่มีคุณภาพ ราคาที่ไม่เท่ากันอาจทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียม ไม่ควรใช้เป็นกลยุทธ์ในระยะยาว |
ตัวอย่าง Promotional pricing strategy การตั้งราคาเพื่อการส่งเสริมการตลาด
e-commerce เจ้าดังอย่างลาซาด้าที่จัดโปรโมชั่นที่หลายๆคนเคยเข้าร่วมมาแล้วอย่าง 5.5 ซึ่งนำหลักการการตั้งราคาพิเศษในวันสำคัญหรือเทศกาลมาใช้ในแคมเปญนั่นเอง
8. Freemium pricing strategy การตั้งราคาแบบฟรีเมียม
การตั้งราคาแบบ Freemium ลูกค้าสามารถใช้บริการได้ฟรีเป็นระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นจะถูกเรียกเก็บเงินสำหรับการให้บริการที่ต่อเนื่อง แนวทางนี้ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในความต้องการใช้บริการ ซึ่งหลังจากนั้นการโน้มน้าวใจให้ชำระเงินจะทำได้ง่ายขึ้น โดยตัวอย่างของการตั้งราคาแบบฟรีเมียม เช่น บริการสตรีมเพลงอย่าง joox, spotify บริการเกมส์ออนไลน์ต่างๆที่ให้เล่นฟรี แต่หากอยากมีตัวละครเก่งๆต้องเสียเงินซื้อ เป็นต้น
เหมาะกับ : ธุรกิจขนาดหรือบริการใหม่ต้องการหาลูกค้ามาทดลองใช้บริการ |
ข้อดี ดึงดูดความสนใจของลูกค้าด้วยการใช้งานฟรี สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลของผู้ใช้และทำให้พวกเขากลายเป็นลูกค้าระดับพรีเมียมได้ ประหยัดงบการตลาดและประชาสัมพันธ์ หากผู้ใช้ทดลองใช้ฟรีแล้วพบว่าสินค้าหรือบริการนั้นดี ทำให้อยากได้บริการเพิ่มเติมจากนักพัฒนา และกลายเป็นลูกค้าแบบพรีเมียมในที่สุด |
ข้อเสีย ต้องมีเงินทุนสำรองในช่วงแรกของการทำกลยุทธ์นี้ มีความเสี่ยงและคาดเดาได้ยากว่าลูกค้าจะเปลี่ยนมาใช้บริการแบบเสียเงินหรือไม่ |
ตัวอย่าง Freemium pricing strategy การตั้งราคาแบบฟรีเมียม
ตัวอย่างเช่น ubersuggest เป็น seo tool ที่คนนิยมใช้แพร่หลายทั่วโลก ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้คนรู้จักก็คือ การที่สามารถเข้ามาทำ keyword research ได้ 3 ครั้งฟรีต่อวัน แต่จะมีบางออพชั่นที่ต้องเสียเงิน ซึ่งจากการทดลองใช้พบว่าตัวเครื่องมือนั้นดีและตอบโจทย์การทำงาน จึงทำให้ผู้ใช้สมัครบริการแบบเสียเงินในที่สุดนั่นเอง
9. Dynamic pricing strategy การตั้งราคาแบบยืดหยุ่น
แนวคิดการตั้งราคาแบบไดนามิกคือการขายสินค้าเดียวกันในราคาที่แตกต่างกันให้กับกลุ่มคนที่ต่างกัน ตามช่วงเวลาและความต้องการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่ง Dynamic Pricing นั้นมีความยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ หรือให้พูดง่ายๆก็คือนำปัจจัยด้าน Demand และ Supply + Time(ช่วงเวลาที่ลูกค้าต้องการใช้สินค้า) เช่น ราคาตั๋วเครื่องบิน หากจองก่อนเวลาเดินทางหนึ่งเดือนราคาอาจจะไม่สูงมาก แต่หากเราจองในวันก่อนเดินทาง 1-2 วันราคาอาจจะสูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า นั่นเป็นเพราะว่าเมื่อช่วงเวลาและความต้องการเปลี่ยนไป ราคาก็สามารถปรับตามได้เช่นกัน
เหมาะกับ : ธุรกิจประเภทท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก สายการบิน ขนส่งสาธารณะ และกิจกรรมบันเทิง |
ข้อดี เพิ่มกำไรและยอดขายที่สูงขึ้น ยืดหยุ่นตามสถานการณ์การแข่งขัน ใช้เป็นแนวทางระบายสินค้าคงคลังได้ดีขึ้น |
ข้อเสีย ความไม่พอใจของลูกค้าเนื่องจากความต่างของราคา มีความผันผวนของราคาและอาจขาดทุนจากการขาย หากใช้ไม่เหมาะสมอาจจะส่งภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อแบรนด์ |
ตัวอย่าง Dynamic pricing strategy การตั้งราคาแบบยืดหยุ่น
ตัวอย่างการตั้งราคาแบบ dynamic pricing ของสายการบิน สมมุติว่าหากวันนี้วันที่ 20 และลูกค้าจะเดินทางในวันที่ 21 จะพบว่าราคาของตั๋วจะแพงมากกว่าตั๋วในวันที่ 27 นั่นเพราะสายการบินเห็นว่าว่าปัจจัยด้าน Demand + Time(ช่วงเวลาที่ลูกค้าต้องการใช้สินค้า) ของลูกค้าที่สูงมากกว่าในวันที่ 27 นั่นเอง
10. Decoy pricing strategy การตั้งราคาแบบหลอกล่อ
เป็นกลยุทธ์การตั้งราคาที่ใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาช่วย โดยการตั้งราคาสินค้าหลอกๆแบบไม่มีเหตุผล ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเกิดการคิดไตร่ตรองและคัดตัวเลือกที่ไม่เหมาะสมออกไป โดย Decoy Pricing จะเป็นการตั้งราคาอย่างน้อยๆประมาณ 3 ราคา ซึ่งหนึ่งในนั้นจะเป็นราคาที่ผู้ขายต้องการจูงใจให้ลูกค้าเลือกนั่นเอง
เหมาะกับ : ธุรกิจที่ต้องการเพิ่มขนาดตะกร้าสินค้า กระตุ้นยอดขาย มักใช้ในโรงภาพยนตร์ ร้านกาแฟ และร้านฟาสต์ฟู้ด |
ข้อดี สร้างแรงจูงใจในการซื้อ เพิ่มยอดขายสินค้าที่ราคาแพง โดยที่ลูกค้าคิดว่าได้สินค้าดีและราคาประหยัดจากการซื้อครั้งนี้ ส่งเสริมการเพิ่มขนาดของตะกร้าสินค้า มากกว่าการขายแบบชิ้นเดียว สร้างปริมาณการขายสูง |
ข้อเสีย ลูกค้าอาจเกิดความสับสนในเรื่องราคาได้ ตัวเลือกที่มากเกินไปทำให้ลูกค้าตัดสินใจไม่ถูก และอาจไม่เลือกราคาที่เราใช้จูงใจ |
ตัวอย่าง Decoy pricing strategy การตั้งราคาแบบหลอกล่อ
จะยกตัวอย่างการใช้ Decoy Pricing ในตอนแรกอาจจะมีแค่ 2 ราคาคือราคาสำหรับขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยทั่วไปหากมีแค่สองราคานี้คนอาจจะเลือกขนาดเล็กมากกว่า แต่ทางผู้ขายได้ใส่ไซส์กลางไปที่ราคาต่างจากไซส์ใหญ่เพียงแค่ 0.5 ซึ่งลูกค้าอาจจะมองว่าจากที่จะต้องจ่ายเพิ่มอีก 3 เหรียญเพื่อได้ไซส์ใหญ่ แต่กลับมองว่าจ่ายเพิ่มแค่ 0.5 เหรียญเท่านั้น ซึ่งการตั้งราคาแบบนี้ทำให้ไซส์ใหญ่ดูถูกและคุ้มไปเลยทีเดียว ซึ่งนั่นคือการที่ผู้ขายวางแผนในการสร้างแรงจูงใจให้คนเลือกซื้อไซส์ใหญ่ตั้งแต่แรกแล้วนั่นเอง
Comentarios